คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกคือเรื่องจริง เพียงแต่คนไทยด้วยกันไม่ค่อยเห็นคุณค่าหรือส่งเสริมนวัตกรรมของคนไทยด้วยกัน
อยากให้สังคมไทยชื่นชมและส่งเสริมคนไทยด้วยกัน โดยเฉพาะภาครัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องนวัติกรรมใหม่ ๆ
เพื่อให้ก้าวทันและเท่าเทียมนวัติกรรมของโลกที่กำลังรุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด
กระเบนราหู (Manta Ray) หนังไทยที่เพิ่งคว้ารางวัลในเวนิส
https://www.bbc.com/thai/features-45469513
กระเบนราหู ภาพยนตร์จากประเทศไทย เพิ่งคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในสาย Orizzonti ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
รางวัลในประเภท Orizzonti (Horizons) เป็นการพิจารณารางวัลสำหรับภาพยนตร์ที่เป็นตัวแทนสุนทรียภาพและการเล่าเรื่องของภาพยนตร์ร่วมสมัยจากนานาชาติในปัจจุบัน นอกจากนี้ กระเบนราหู ยังเป็นภาพยนตร์จากประเทศไทยเพียงเรื่องเดียวในเทศกาลปีนี้
กระเบนราหู หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Manta Ray เป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่สะท้อนถึงปัญหาและทัศนคติต่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิกฤตผู้อพยพชาวโรโรฮิงญาในประเทศไทย
ภาพยนตร์ความยาว 105 นาทีนี้ เล่าถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์ระหว่างชาวประมงคนหนึ่ง (รับบทโดย วัลลภ รุ่งกําจัด) และชายอีกคนหนึ่งที่เข้าให้การช่วยเหลือ (รับบทโดย อภิสิทธิ์ หะมะ) หลังถูกน้ำทะเลซัดขึ้นฝั่งในหมู่บ้านติดทะเลแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งสอดแทรกไปด้วยสัญลักษณ์ให้ผู้ชมได้ตีความ
นอกจากชาวประมงจะให้ความช่วยเหลือกับชายคนดังกล่าวแล้ว เขายังตั้งชื่อให้กับชายคนดังกล่าวว่า "ธงชัย" แต่ต่อมาเมื่อชายชาวประมงหายตัวไป ธงชัยก็เริ่มเข้ามาเป็นเจ้าของบ้าน อาชีพ และอดีตภรรยาของชาวประมง
--
คุณพุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง
ในบทวิจารณ์ของเว็บไซต์วาไรตี้ ริชาร์ด ไคเปอร์ส กล่าวว่า ด้วยการที่หนึ่งในตัวละครหลักไม่มีโอกาสได้สื่อสารด้วยคำพูดตลอดทั้งเรื่อง ผู้กำกับได้นำคนดูไปสัมผัสกับภาวะไร้อำนาจที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญในการสื่อสารต่อสาธารณชนและการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง
ภาพยนตร์ที่อุทิศให้กับเหยื่อ
พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และเคยมีผลงานหนังสั้นเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์หลายแห่งทั่วโลก หนึ่งในผลงานของเขา คือ ภาพยนตร์สั้นเรื่อง ชิงช้าสวรรค์ (Ferris Wheel) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของแม่ลูกไร้สัญชาติคู่หนึ่งที่ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยจากประเทศเมียนมา และชนะรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติสิงคโปร์ เมื่อปี 2558
สำหรับภาพยนตร์ยาวเรื่องแรกของเขา พุทธิพงษ์กล่าวผ่านแถลงการณ์บนเว็บไซต์ว่า ตนขออุทิศโปรเจกต์นี้ให้แก่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาผู้เป็นเหยื่อจากเหตุการณ์ที่เคยขึ้นในประเทศไทย โดยกล่าวถึง 2 เหตุการณ์ด้วยกัน
หนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ในเดือน ม.ค. 2552 เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารของไทยลากเรือของผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนอย่างน้อย 6 ลำออกไปจากฝั่งและทิ้งไว้กลางทะเล เหตุครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คน และมีอีกกว่า 300 คนสูญหาย